หลายครั้งที่โรคระบาดเกิดขึ้นจากความอุตริในการเปิบพิสดาร เพื่ออวดคนอื่นถึงความกล้าของตนที่จะกินอะไรแปลกใหม่ เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่นิยมกิน หรือเป็นสิ่งที่ไม่ควรกินเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่น “ค้างคาว” สัตว์ที่เป็นรังโรคสารพัด
ค้างคาว คือ สัตว์ที่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรค และสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ต่อให้นำมาปรุงสุกก่อนทานก็ตาม โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 60 ชนิด ที่จะก่อให้เกิดโรคในคนและสัตว์อื่น ๆ ได้ เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสอีโบล่า ไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์ส ไวรัสนิปาห์ (โรคสมองอักเสบ) รวมไปถึง โรคไวรัสโคโรนา ที่ก่อให้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ไปทั่วโลก จนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกพังพินาศย่อยยับ เพราะความอุตริของคนเพียงไม่กี่คน
ค้างคาวมีกี่ชนิด
โลกนี้มีค้างคาวทั้งหมดมากกว่า 1,000 ชนิด โดยในประเทศไทยมีประมาณ 100 ชนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่
- ค้างคาวกินผลไม้ คือ ค้างคาวที่กินน้ำหวานดอกไม้ ละอองเกสร และผลไม้เป็นอาหาร เช่น ค้างคาวแม่ไก่ ค้างคาวบัว ค้างคาวขอบหูขาว ค้างคาวเล็บกุด เป็นต้น
- ค้างคาวกินแมลง คือ ค้างคาวที่กินแมลงต่าง ๆ เป็นอาหาร เช่น ค้างคาวผีเสื้อ ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ ค้างคาวปากย่น ค้างคาวแวมไพร์แปลง เป็นต้น
ค้างคาวกินผลไม้ กับ ค้างคาวกินแมลง แตกต่างกันอย่างไร
- ดวงตาและจมูก
-ค้างคาวกินแมลงจะมีดวงตาขนาดเล็ก จมูกมีไว้ควบคุมระบบโซน่าเพื่อความแม่นยำในการจับแมลง
-ค้างคาวกินผลไม้จะมีดวงตาขนาดใหญ่ จมูกเป็นสัน มีร่องคั่นแบ่งจมูก ปลายจมูกมีขอบยื่นออกเพื่อกันไม่ให้น้ำหวานไหลเข้ารูจมูก
- นิ้วและเล็บ
-ค้างคาวกินแมลงไม่มีนิ้วที่สอง ไม่มีเล็บ
-ค้างคาวกินผลไม้ มีเล็บที่ปลายนิ้วทั้งสองเพื่อใช้สำหรับเกาะต้นไม้และการปีนป่าย
- ขาหลัง
-ค้างคาวกินแมลงมีเยื่อบาง ๆ ระหว่างขาหลังทั้งสอง เพื่อช่วยให้มีความคล่องตัวในการจับแมลง
-ค้างคาวกินผลไม้ มีเนื้อเยื่อเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยในการบิน และเพิ่มความคล่องตัวในการปีนป่าย
เชื้อไวรัสในค้างคาว
ผลวิจัยจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ได้ตรวจพบว่า ไวรัสนิปาห์ที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ แพร่ระบาดมาจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของค้างคาว รวมไปถึงการดื่มเลือดหรือกินค้างคาว ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40-80 เลยทีเดียว โดยตัวค้างคาวที่มีเชื้อไวรัสจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรืออาจมีอาการแสดงให้เห็นเพียงเล็กน้อยแล้วสามารถหายได้เอง แต่จะแพร่เชื้อให้กับมนุษย์และสัตว์อื่นต่อได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายที่จะเกิดการแพร่ระบาดเชื้อดังกล่าว เนื่องจากค้างคาวไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ นอกเสียจากว่า มนุษย์ได้รุกล้ำไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวแล้วมีการสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของค้างคาวโดยตรง โดนค้างคาวกัดแล้วเชื้อจากน้ำลายเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแผลที่โดนกัด หรือการไปจับและนำค้างคาวมากิน จนทำให้เกิดระบาดของเชื้อโรคในที่สุด
ทำไมไม่ควรบริโภคค้างคาว
แม้ว่าจะนำค้างคาวไปปรุงสุกก่อนทาน แต่ระหว่างขั้นตอนการปรุงนั้นอาจมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ ระหว่างการจับ การชำแหละ ย่อมมีโอกาสเสี่ยงสูงในการได้สัมผัสเชื้อไวรัสในเลือด น้ำลาย เครื่องใน และอวัยวะอื่น ๆ ที่ยังไม่ผ่านความร้อน โดยเฉพาะ ม้าม ตับ และเยื่อบุช่องท้องของค้างคาว ที่มักมีเชื้อไวรัสเป็นจำนวนมาก และหลังจากที่รับประทานค้างคาวแล้วไม่เกิดอาการผิดปกติใด ๆ โดยทันที แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัย 100% เพราะเชื้อโรคหลายชนิดใช้ระยะเวลานานในการฟักตัว และอาจนานถึง 2 ปีเลยทีเดียว จึงจะเห็นได้ถึงอาการของโรค
นอกจากค้างคาวจะเป็นแหล่งของเชื้อโรคหลายชนิดจนไม่ควรนำมารับประทานแล้ว ค้างคาวแทบทุกชนิดได้ถูกบัญญัติให้เป็นสัตว์สงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยให้ถือว่าเป็นสัตว์ที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ดังนั้น ใครที่กินค้างคาว ก็อาจกำลังทำผิดกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ที่เคยได้ทานค้างคาว ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม เนื้อหรือเลือด หรือแม้แต่เคยถูกค้างคาวกัด หากมีอาการผิดปกติกับร่างกาย มีไข้สูง ควรแจ้งประวัติให้แพทย์ทราบตามจริง เพื่อจะได้มีข้อมูลในการวินิจฉัยโรค และทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง