ปัจจุบันมีผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจในทางธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยทางด้านใดก็ตาม มีทั้งสายวัด คือชอบใส่บาตร ทำบุญไหว้พระที่วัด หรือสายมูเตลู คือ มุ่งเน้นทางด้านความเชื่อและศรัทธา และ สายปฏิบัติ คือ เน้นการนำธรรมะมาเป็นข้อปฏิบัติ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมแท้นั้นยังนับว่าน้อยอยู่มาก โลกจึงยังคงวุ่นวายเพราะกิเลสนั้นมีมากกว่า
การปฏิบัติธรรมคือทำอะไร
หลายคนที่มักจะเข้าใจว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องยิ้มแย้มตลอดเวลา มีแสงออร่าแห่งความเป็นคนดี ต้องนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีล กินเจ ถึงจะเรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรม แต่แท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะสวมใส่เสื้อผ้าสีอะไร ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิที่วัด ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ในทุกขณะจิต เพราะ “ปฏิบัติธรรม” คือ การนำหลักธรรมมาปฏิบัติ ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีสัมมาทิฎฐิ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และมีความสุขที่แท้จริง
ผู้ปฏิบัติธรรมที่ยังต้องดำเนินชีวิตอยู่ในทางโลก จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดเรื่องสีของเครื่องนุ่งห่ม ไม่กำหนดสถานที่ เพราะ “ธรรมะ” นั้น สามารถนำมาใช้ได้ทุกที่ และทุกช่วงเวลา ไม่มีกฏเกณฑ์ ไม่มียูนิฟอร์ม ไม่มีหน้ากาก หรือหัวโขน และไม่มียศตำแหน่ง เพราะธรรมะคือธรรมชาติ เป็นสิ่งธรรมดามากๆ สำหรับในทางโลกแล้ว การที่ทำความเข้าใจหลักธรรมแล้วนำไปใช้ รู้ให้เท่าทันกิเลส มีสติและระงับความชั่วร้ายไม่ให้บงการเราได้หรือบงการเราได้น้อยที่สุด ก็ย่อมขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเช่นกัน
ผู้ที่ดำเนินชีวิตในทางโลก สามารถปฏิบัติธรรมด้วย ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มรรคมีองค์ 8 ประการ
- มีความเห็นที่ถูกต้อง : สัมมาทิฏฐิ คือ การพิจารณาและทำความเข้าใจใในเหตุและผล
- มีความคิดที่ถูกต้อง : สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดที่ไม่ต้องการเบียดเบียน ไม่พยาบาท
- มีวาจาที่ถูกต้อง : สัมมาวาจา คือ การไม่ต้องการพูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดให้เกิดโทษแก่ผู้อื่น
- การปฏิบัติถูกต้อง : สัมมากัมมันตะ คือ การรักษาศีล 5
- หาเลี้ยงชีพถูกต้อง : สัมมาอาชีวะ คือ เว้นจากการเป็นมิจฉาชีพ ยึดอาชีพสุจริต ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- มีความเพียรถูกต้อง : สัมมาวายามะ คือ ละความชั่ว ทำความดี รักษาจิตให้เป็นกุศล
- มีสติที่ถูกต้อง : สัมมาสติ คือ รู้แจ้งเห็นจริง ด้วยสติ รู้ให้เท่าทันกิเลสและความชั่ว
- มีสมาธิที่ถูกต้อง : สัมมาสมาธิ คือ จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีความตั้งใจมั่นในทางที่ชอบ
ลักษณะคนปฏิบัติธรรมแท้เป็นอย่างไร
- ความโกรธน้อยลง รู้เท่าทันอารมณ์โกรธ เห็นความไม่พอใจ และละมันได้เร็วขึ้น
- เปิดใจ ยอมรับ เข้าใจผู้อื่นมากขขึ้น ไม่ตัดสินผู้อื่น ว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว
- ยอมรับในความผิดพลาดของตนเองได้ และมองหาข้อดีข้อผู้อื่น
- เปิดใจรับฟัง เป็นผู้รับฟังที่ดี โดยไม่มีอคติ
- เป็นคนซื่อตรง ไม่ชอบโกหก หลีกเลี่ยงการนินทาให้ร้ายผู้อื่น
- ต้องการความสุขทางโลกน้อยลง เพราะเห็นสาระแก่นสารของทางธรรมมากกว่า
- ใช้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อประโยชน์ของตนเองน้อยลง แต่เสียสละของตนเพื่อผู้อื่นมากขึ้น
- ไม่จุกจิก ไม่จู้จี้ ไม่ขี้บ่นพร่ำเพรื่อ ไม่อิจฉาริษยา
- ไม่ค่อยสนใจเรื่องที่ชักนำให้เพิ่มกิเลส แต่สนใจฟังเรื่องละกิเลส
- ไม่ตอกย้ำความผิดพลาดของผู้อื่น ไม่กดให้ผู้อื่นดูต้อยต่ำหรือด้อยค่ากว่าตน
- ไม่ยินดีในคำสรรเสริญ ไม่ยินร้ายในคำนินทา เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป
- มีความละอายใจสิ่งที่เป็นอกุศล และพลอยยินดีในสิ่งที่เป็นกุศล
- มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นเสมอ
- ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนชีวิตอื่นให้น้อยที่สุด
- เห็นคุณค่าของวัตถุเครื่องใช้ ถนอมรักษาข้าวของ แต่ไม่หวงแหนขี้เหนียว
- คลุกคลีกับหมู่คณะตามกาละเทศะ ใช้เวลาส่วนใหญ่สำรวจตนมากกว่า
- ไม่ยึดติดความเป็นเจ้าของ มีสิ่งใดก็จะคำนึงถึงประโยชน์แก่ผู้อื่น
- ยึดติดกับผู้อื่นน้อยลง ไม่สนใจที่ผู้อื่นต้องเข้าใจตนหรือไม่
- มองอุปสรรคเป็นหนทางแห่งการฝึกตน
- มองทุกสรรพชีวิตเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกรูป วรรณะ ภพภูมิ
- ยอมรับความเป็นตัวตนของผู้อื่น ไม่คิดควบคุมหรือกำหนดผู้อื่น
- พิจารณาและเข้าใจในเหตุและผลของการกระทำของตนและผู้อื่น
- มีความคิดสร้างสรรค์ คิดที่จะยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ติดในกรอบแต่ก็ไม่ต่อต้าน
- มีกระบวนการความคิดละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง มองทุกสิ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลก
- มีความเป็นอิสระ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อยู่กับตัวเองได้อย่างหนักแน่น
- รู้เท่าทัน กาย ใจ และความเป็นไปของอารมณ์ตนอยู่เสมอ
- พิจารณาตนเองมากกว่าพิจารณาผู้อื่น
- เข้าใจใน กรรม ซึ่งเป็นผลจากการกระทำ
- รับรู้ความงามและคุณค่าของธรรมชาติ ใส่ใจในการรู้คุณและตอบแทนต่อธรรมชาติ
- เห็นคุณค่าของชีวิต ตระหนักถึงความตายและความไม่เที่ยงของชีวิต ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต