หากใครได้ดูหนังหรือละครไทยแนวพีเรียด ย้อนยุค หรือล่าสุด อย่างละครสุดฮิตจนต้องทำภาค 2 ออกมา อย่างเรื่อง พรหมลิขิต ที่ผูกเรื่องต่อเนื่องมาจากภาคแรกเรื่องบุพเพสันนิวาส เมื่อถึงฉากในวังที่มีพระเจ้าแผ่นดินรายล้อมไปด้วยขุนนางทั้งหลาย สวมเครื่องประดับเต็มยศ พร้อมกับสวมศีรษะด้วยสิ่งที่แลดูคล้ายกับ หมวกเทวดา มีใครอยากรู้บ้างไหมว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร และมีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เราจะมาชวนทุกคนรู้จักกับหมวกเทวดาที่ถูกเรียกว่า “ลอมพอก” อีกเอกลักษณ์ของไทยที่เฟื่องฟูสมัยอยุธยา แต่ไม่ได้มาจากไทยแท้กันค่ะ
ลอมพอก เป็นคำที่ประกอบมาจาก 2 คำ ได้แก่
- ลอม แปลว่า กองเรียงขึ้นไปให้สูงเป็นกรวยหรือจอม เช่น ลอมฟาง
- พอก แปลว่า พูน โพก เช่น การโพกหัว โพกผ้าขาวม้า
ลอมพอกคืออะไร
ลอมพอก คือ เครื่องสวมศีรษะรูปยาวทรงกระบอก มียอดทรงเรียวแหลมขึ้นไปเป็นชั้น ๆ โดยแต่ละชั้นประดับด้วยเครื่องเงิน ทอง เพชร พลอย บ่งบอกถึงยศฐานะผู้สวม โครงข้างในสานด้วยไม้ไผ่ สันฐานคล้ายมงกุฏ สวมแล้วดูเหมือนการเกล้าผมขึ้นไปเป็นทรงกรวยปลายแหลมปัดไปด้านหลัง เป็นเครื่องทรงของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นเครื่องแบบขุนนางสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนพัฒนาเป็นชฎาหรือมงกุฏสำหรับเจ้านายและนักแสดงโขนในยุคหลัง
ลอมพอกสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเหมือนหรือต่างจากลอมพอกขุนนาง
ลอมพอก หรือ พระลอมพอกของพระเจ้าแผ่นดิน จะประดับขอบหรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฏเพชรรัตน์ ในขณะที่ลอมพอกของขุนนางจะประดับเสวียนทองคำ เงิน หรืออัญมนีอื่น ๆ มากน้อยตามยศ และขุนนางบางคนก็ไม่มีเสวียนเลย
- ออกญา ชนชั้นปกครองชั้นสูงสุด ขอบลอมพอกทำด้วยทองคำ โดยมียอดแหลมประดับด้วยช่อมาลา
- ออกพระ ขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นสอง ขอบลอมพอกทำด้วยช่อชัยพฤกษ์
- ออกหลวง ขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นสาม ขอบลอมพอกมีความกว้างเพียง 2 นิ้ว และความประณีตน้อยกว่าลอมพอกของออกพระ
- ออกขุน ขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นสี่ ขอบลอมพอกทำด้วยทองคำ หรือเนื้อเงินเกลี้ยง
- ออกหมื่น ขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นห้า ขอบลอมพอกทำด้วยทองคำหรือเนื้อเงินเกลี้ยงเช่นเดียวกับออกขุน
ลอมพอกได้รับวัฒนธรรมจากที่ใด
ลอกพอก เครื่องสวมศีรษะในงานพระราชพิธีของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากการโพกผ้าของมุสลิมเปอร์เซีย (อิหร่าน) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจรับมาตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยา
ราชทูตไทยไปฝรั่งเศสมีใครบ้าง
บรรดาคณะทูตในช่วงสมัยอยุธยาที่ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2228 ซึ่งนับว่าเป็นคณะทูตยุคบุกเบิกของสยาม ได้เดินทางโดยอาศัยเรือของ อาแล็กซ็องด หรือ เชอวาเบียเดโชมง (อัศวินแห่งโชมง) และ ฟร็องซัว ตีมอเลอง เดอ ชัวซี ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาสยามเมื่อ พ.ศ.2228 และกำลังเดินทางกลับประเทศ พร้อมกับ กี ตาชาร์ บาทหลวงคณะเยสุอิต เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 เดือน และไปถึงท่าเรือเมืองแบรสต์ (Brest) ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2229 ก่อนจะเดินทางต่อด้วยกระบวนรถม้าเพื่อเข้าสู่กรุงปารีส โดยในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 เหล่าราชทูตสยามจากราชสำนักอยุธยาสวมลอมพอกเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อถวายพระราชสาส์น ณ พระราชวังแวร์ซายส์ โดยราชทูตที่ได้เดินทางเข้าเฝ้าฯ ได้แก่
- พระวิสูตสุนทร (โกษาปาน) เป็นหัวหน้าคณะทูต
- ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต
- ขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต
หลังจากเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นเสนอการเป็นพันธมิตรระหว่างสยามและฝรั่งเศสแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะทูตทั้งหมดก็ได้พำนักและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศฝรั่งเศสถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2230