ต้องยอมรับว่าในสังคมไทยปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจิต มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากสภาพสิ่งแวดล้อมและปัจจัยรอบด้าน รวมไปถึงภาวะหลังผ่านความโศกเศร้า ความผิดหวัง และจากการสูญเสีย ซึ่งเรามีวิธีการดูแลสุขภาพจิตด้วยตนเองอย่างง่าย ๆ โดยไม่ต้องรอให้ผู้อื่นมาช่วยเยียวยา
การดูแลสุขภาพจิตคืออะไร
การดูแลสุขภาพจิต คือ การทำให้สภาพจิตใจของตนเป็นปกติ สามารถมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น
โดยปราศจากอาการป่วยของโรคทางจิตใจและร่างกาย เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิก โรคจิต หรือโรคประสาท เป็นต้น และเราทุกคนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วยวิธีง่าย ๆ ได้ ดังต่อไปนี้
1. ยอมรับความจริง
อันดับแรกเราจะต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับให้ได้ว่ามันเป็นความจริง ไม่จำเป็นต้องหลอกตัวเอง และไม่ต้องปิดกั้นที่จะแสดงออกถึงความโศกเศร้า โดยแสดงออกอย่างเหมาะสม และถ้ามีผู้อื่นที่อยู่ในสภาวะหรือเหตุการณ์เดียวกับเรา ก็ควรพูดคุยและสร้างกำลังใจให้กัน เพื่อประคับประคองความรู้สึกให้ผ่านพ้นความเศร้าไปให้ได้
2. อยู่อย่างมีสติ
หมั่นสังเกตความรู้สึก ความนึกคิด และพฤติกรรมของตนเอง รวมถึงของคนรอบข้างอยู่เสมอ คอยจับสังเกตว่าตนมีอาการคิดวนเวียน เกิดความวิตกกังวล หมกหมุ่นกับความคิดของตัวเอง ไม่อยากพบเจอใคร นอนไม่หลับ หรือมักจะฝันร้าย และมีพฤติกรรมที่แปลกไปจากเดิม เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดพึมพำคนเดียว (หากไม่เคยทำมาก่อน) หรือกระทั่งมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป หากมีความรู้สึกและอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบจิตแพทย์ อย่าละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด
3. ระบายความรู้สึก
การได้พูดได้ระบายความเสียใจ หรือแม้แต่อารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจกับคนใกล้ชิด จะช่วยคลายความอัดอั้นที่มีอยู่ให้เบาบาง และการที่ได้ปรับทุกข์ซึ่งกันและกัน ยังช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเยียวยาซึ่งกันและกัน เพราะมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกเดียวกัน
4. พาตัวเองออกจากจุดที่ทำให้รู้สึกเศร้า
หากมีความรู้สึกเศร้าเกินที่จะรับมือไหว ควรกันปัจจัยทุกชนิด และปิดกั้นทุกช่องทางที่จะก่อให้เกิดความเศร้า ทั้งข้อมูลข่าวสาร วัสดุสิ่งของ สถานที่ ที่จะสกิดภาพความทรงจำ แล้วทำให้เศร้า เสียใจ และเป็นทุกข์ ควรจะพักใจด้วยการอยู่นิ่ง ๆ กับตัวเองสักพัก ให้เวลาดูแลใจจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น
5. ฝึกสมาธิ
การทำสมาฺธิจะช่วยฝึกจิตให้สงบ มีสติ และเกิดปัญญา คิดได้ เข้าใจได้ ยอมรับได้ และหาวิธีพาตัวเองออกจากความทุกข์ได้ในที่สุด
6. คิดแต่เรื่องดี ๆ ความทรงจำดี ๆ ที่มีร่วมกัน
หากคิดถึงคนที่เราเพิ่งสูญเสียไป แล้วเกิดความเศร้า ให้เปลี่ยนไปคิดถึงในทิศทางที่เป็นบวก คิดถึงช่วงเวลาดี ๆ ที่ใช้ร่วมกัน คิดถึงความสุขและรอยยิ้มของคนที่จากไป แล้วยิ้มไปกับมัน แม้จะเป็นรอยยิ้มที่มีน้ำตา แต่ก็อาจดีกว่าโศกเศร้าร้องไห้อย่างฟูมฟายจนไม่สามารถทำอะไรต่อได้อีก ให้ภาพความสวยงามเหล่านั้น เป็นเมโมรี่ดี ๆ แล้วพยายามดำเนินชีวิตตนเองต่อไปให้เป็นปกติ
7. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หากเรามีอาการเสียใจหนักจนรู้สึกหมดแรงจะล้มลง ให้หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ และพยายามตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก พาตัวเองออกไปอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถถ่ายเทได้สะดวก ดื่มน้ำเย็น และหาผ้าเย็นมาเช็ดหน้า เช็ดตัว หาอุปกรณ์ที่จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น เช่น ยาดม ยาหม่อง เป็นต้น และถ้าหากเราเป็นผู้ไปพบคนอื่นที่มีอาการเช่นนี้ หรือเสียใจหนักจนหมดสติ ก็สามารถปฐมพยาบาลและดูแลด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน
ไม่มีใครอยากพลัดพรากและต้องสูญเสียคนหรือสิ่งที่รัก แต่ก็ไม่มีใครสามารถกำหนดทุกสิ่งให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เพราะทุกสิ่งนั้นล้วนแต่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในที่สุด หากเราเข้าใจกับมัน เราก็จะก้าวข้ามผ่านไปได้ในไม่ช้า ขอให้กำลังใจกับผู้ที่ต้องสูญเสียทุกท่านค่ะ