การให้ หมายถึง การเสียสละของตนแก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม
การให้ทาน คือ การเสียสละให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่จะเกิดความอิ่มเอิบใจ ผ่องใส รู้สึกเบาสบาย ซึ่งก็คือ บุญ เกิดขึ้น นั่นเอง
การให้ทาน มีอะไรบ้าง
การให้ทานสามารถแบ่งได้ตามนี้
- วัตถุทาน หรือ อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน
- ธรรมทาน คือ การให้ธรรมเป็นทาน เช่น การเทศนาธรรม การให้ความรู้ทางหลักธรรมะ และ วิทยาทาน คือ การให้ความรู้เป็นทาน (วิชาการทางโลก)
- อภัยทาน คือ การไม่ถือโกรธ หรือ ยกโทษให้แก่ผู้ที่ทำไม่ดีกับตน ไม่จองเวรหรือพยาบาท ซึ่งเป็นการให้ทานอันสูงสุดตามหลักพุทธศาสนา เพราะเป็นการให้ที่ยากที่สุด แต่ได้บุญมากที่สุดด้วย
อามิสทาน : เป็นการบริหารด้านร่างกาย และ ธรรมทาน : เป็นการบริหารด้านจิตใจ
ซึ่งการดำเนินชีวิตนั้น ควรยึดหลักทั้งอามิสทานและธรรมทาน เพื่อให้สมบูรณ์พร้อมด้วย กายและจิตใจ
องค์ประกอบการทำบุญด้วยการให้ทาน
- สิ่งของที่จะให้ทานนั้นบริสุทธิ์ คือ ได้มาด้วยความชอบธรรม ไม่ได้ขโมยหรือนำของผู้อื่นที่ไม่เต็มใจมาให้ทาน รวมถึงสิ่งที่ให้จะต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม ตัวอย่างการให้ทานที่ได้กุศล เช่น การให้อาหารแก่คนไร้บ้าน การไม่ใส่บาตรพระด้วยสิ่งของต้องห้าม หรือให้สุรา สิ่งเสพติดให้โทษ อาวุธ หรือสื่อลามกต่าง ๆ แก่ผู้อื่น เป็นต้น
- ผู้ให้บริสุทธิ์ คือ ผู้ให้ทานนั้นจะต้องให้ด้วยความเต็มใจ ให้ด้วยความศรัทธา ให้เพื่อมุ่งหวังอนุเคราะห์แก่ผู้รับให้ได้ประโยชน์จากวัตถุนั้น ให้เพื่อขจัดความตระหนี่ของตน และมีจิตใจผ่องใสเป็นสุขทั้งก่อนให้ ขณะที่ให้ และหลังให้ทานเสร็จสิ้น โดยไม่เกิดความเสียดายหรือเสียใจทีหลัง
- ผู้รับบริสุทธิ์ คือ ผู้รับเป็นผู้มีศีล มีธรรม ไม่เป็นผู้ทุศีล เพราะผลอานิสงส์ของทานจะมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับศีลและคุณธรรมของผู้รับด้วยเช่นกัน
การให้คือการได้รับ
- ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้รับของที่พอใจ
- ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ
- ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้รับของที่ดี
- ผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมได้รับของที่ประเสริฐ
การเป็นผู้ให้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้เสียเปรียบ หรือต้องเสียสละเท่านั้น แต่การให้จักได้รับเช่นกัน โดยสิ่งแรกที่จะได้รับกลับมาทันที คือ ความอิ่มเอิบใจ ความสุขใจ และผู้ให้ย่อมจักได้รับกลับมา ดังนี้
ลักษณะของทาน
โดยจะแบ่งตามชนิดสิ่งของที่บริจาคทาน ดังนี้
- ให้สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว เรียกว่า ทาสทาน
- ให้สิ่งที่ยังเป็นประโยชน์กับตน เรียกว่า สหายทาน
- ให้สิ่งของที่ดีที่สุด (จากทั้งหมดที่มีอยู่) เรียกว่า สามีทาน
ทานมีอานิสงส์ตามคุณสมบัติของผู้รับ
ผลจากการให้ทานนอกจากจะส่งผลต่อผู้ให้เกิดความอิ่มเอมใจ อันมาจาก บุญ แล้วนั้น ยังส่งผลต่อผู้ให้ในด้านอื่น ๆ เช่น หน้าตาอิ่มเอิบ แจ่มใส มีผิวพรรณดี มีความสุข มีปัญญา รวมไปถึงการมีทรัพย์ โดยอาจมีบางท่านได้ให้กุศลโลบายถึงอานิสงส์จากการให้ทานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลบุญของผู้รับ ดังนี้
ให้ทานแก่สัตว์ ได้บุญน้อยกว่าให้คนทุศีล (คนไม่มีศีล)
ให้ทานแก่คนทุศีล ได้บุญน้อยกว่าให้กับคนมีศีล
ให้ทานแก่คนมีศีล ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่ภิกษุสงฆ์
ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระอริยสงฆ์
ถวายแก่พระอริยสงฆ์ ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บุญน้อยกว่า การถวายสังฆทาน
การถวายสังฆทาน ได้บุญน้อยกว่า วิหารทาน (ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระสงฆ์จากทุกทิศ)
อานิสงค์การให้ทาน 5 ประการ
- ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก
- สัปปบุรุษผู้มีความสงบ ผู้มีธรรม ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
- ผู้ให้ทานเป็นผู้มีกิตศัพท์อันดีงามขจรขจายไปทุกภพ
- ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
- ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติภูมิ
ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า การบำเพ็ญทาน เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต