Menu

ไบโพลาร์ โรคอารมณ์แปรปรวน ใช่ภาวะซึมเศร้าหรือต่างกันยังไง 

Peter Torres 1 year ago 43

Bipolar Disorder คือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือ ที่เราได้ยินหรือคุ้นเคยกันดีกับ “โรคไบโพลาร์” โดยโรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมศร้า (Major Depressive Episode) สลับกับอารมณ์ดีมากเกินปกติ (Mania or Hypomania) ซึ่งอาจมีอารมณ์สลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว หรืออาจอยู่ในห้วงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรืออาจยาวนานเป็นเดือน 

ไบโพลาร์ แบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 

1. Bipolar I disorder คือ มีอาการ mania อย่างเดียว หรืออาจสลับกับซึมเศร้า 

2. Bipolar II disorder คือ มีอาการ hypomania สลับกับอาการซึมเศร้า 

  • Mania คือ อาการคึกรุนแรง หรือ ก้าวร้าวผิดปกติ
  • Hypomania คือ อาการคึกน้อย ไม่รุนแรงเท่า mania  

เมื่อผู้ป่วยไบโพลาร์ อาการคึก (Mania or Hypomania) มีดังนี้ 

  • มีพลังเยอะ แอ็กทีฟ หรืออาจกระวนกระวายและหงุดหงิดง่าย 
  • มีอาการคึก รู้สึกมีความสุขแจ่มใสเกิน 
  • นอนน้อยกว่าปกติมาก โดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย และรู้สึกเพียงพอ
  • พูดเร็ว พูดมาก พูดเยอะผิดปกติ พูดไม่ยอมหยุด 
  • เชื่อมั่นในตัวเองสูง รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก 
  • ความคิดแล่นเร็ว มีความคิดหลากหลายในสมอง แต่ก็เปลี่ยนเร็วด้วยเช่นกัน 
  • เปลี่ยนเรื่องที่สนใจ หรือเปลี่ยนเรื่องพูดได้ไว ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ง่าย 
  • มีเรื่องให้ทำวุ่นวายไปหมด ทั้งธุระและไม่ใช่ธุระ 
  • มักจะตัดสินใจพลาด เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำเรื่องเสียงหรือผิดกฏหมาย ไม่ยับยั้งชั่งใจในเรื่องเพศ 

เมื่อผู้ป่วยไบโพลาร์ อาการซึมเศร้า (Depress) มีดังนี้ 

  • รู้สึกว่างเปล่า สิ้นหวัง ไร้กำลังใจ ร้องไห้ง่าย 
  • เบื่ออาหาร กินน้อยลงจนน้ำหนักลด หรืออาจกินเก่งขึ้นผิดปกติ 
  • นอนไม่หลับ หรือรู้สึกอยากนอนอย่างเดียว ไม่ต้องการทำอะไร 
  • หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยโปรดปราน 
  • รู้สีกเหนื่อยล้า ไม่มีพลัง  
  • กระวนกระวาย หรือทำอะไรเชื่องช้าลงเหมือนคนหมดไฟชีวิต 
  • ร้องไห้หรือรู้สึกผิดหวังโดยไม่มีเหตุผล 
  • คิดอะไรไม่ออก สมองว่างเปล่า ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจไม่ได้ 
  • รู้สึกตัวเองไร้ค่า 
  • ทำร้ายตัวเอง หรือ ต้องการฆ่าตัวตาย 

ผู้ป่วยไบโพลาร์อาการจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีรูปแบบแน่นอน  สลับสับเปลี่ยนไปมาอาจหมุนเวียนภายในวันเดียวกัน หรือเป็นช่วงเวลาในสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี จนรอบข้างอาจตามไม่ทัน บางรายอาจมีอาการโรคจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เห็นภาพหรือได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่เห็นไม่ได้ยิน หรือมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าวจนถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น หรือคิดว่าตนมีความสามารถเหนือมนุษย์ เป็นต้น 

ไบโพลาร์ สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง 

  • ความผิดปกติของสมองโดยมีสื่อประสาทไม่สมดุล 
  • สภาพสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูในวัยเด็ก 
  • ความเครียดสะสมในชีวิตประจำวัน 
  • โรคบางชนิด เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์หรือฮอร์โมน โรคลมชัก เนื้องอกในสมอง โรคระบบทางประสาท ติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น 
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาแก้ซึมเศร้า methylphenidate , amphetamine , levodopa หรือ corticosteroid เป็นต้น 
  • พันธุกรรม ทั้งที่เกิดจากการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และพันธุกรรมเกิดใหม่ขณะเป็นทารกในครรภ์มารดา เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยไบโพลาร์ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคทางจิตเวชมีโอกาสป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ได้มากกว่าคนทั่วไป 

โรคไบโพล่า กับ โรคซึมเศร้า เหมือนกันไหม 

โรคซึมเศร้า คือ โรคเกี่ยวกับปัญหาทางอารมณ์ตกเพียงด้านเดียวอย่างชัดเจน เมื่อผู้ป่วยมีอาการจะมีภาวะซึมเศร้า หรือแสดงพฤติกรรมหงุดหงิด ซึ่งเป็นอารมณ์ในด้านลบด้านเดียวเท่านั้น ในขณะที่โรคไบโพลาร์จะมีช่วงอารมณ์ขึ้นและตกสลับกันไปมา คือ เมื่ออยู่ในช่วงอารมณ์ตกก็จะเหมือนกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่จะกลับมาอารมณ์ดีมาก ๆ อีกครั้ง แต่ทั้งสองโรคนี้ถูกจัดเป็นให้ “โรคจิตเวช” เหมือนกัน

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย หมดกำลังใจ ท้อแท้ หมดหวังในชีวิต ส่งผลให้ไม่มีกำลังใจในการมีชีวิต จนเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นจากทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในประเทศไทยพบผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูง ประมาณ 3 ล้านกว่าคน และคาดว่ามีผู้ป่วยแล้วกว่าเกือบ 2 ล้านคน 

 ไบโพลาร์ รักษาหายไหม 

สำหรับผู้ป่วยไบโพลาร์ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าป่วย ไม่ได้สังเกตตนเองเพราะคิดว่ายังใช้ชีวิตตามปกติ ดังนั้นใครที่รู้สึกถึงความผิดปกติของคนใกล้ชิดได้เร็ว และพาเข้ารับการรักษาได้เร็วมากเท่าไร มีโอกาสที่จะรักษาหายได้เร็วขึ้น แต่ถ้าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปมากเท่าไร ยิ่งยากต่อการรักษาให้หายได้เช่นกัน  

การรักษาโรคไบโพลาร์ 

การรักษาโรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar Disorder) มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการวินิจฉัยโรคของแพทย์ เช่น 

  • การให้คำปรึกษา แนะวิธีการดูแลสุขภาพจิตตนเองเพื่อสามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมได้ตามปกติ
  • การใช้ยาที่ผู้ป่วยต้องใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยควบคุมและรักษาความสมดุลให้กับสื่อประสาทในสมอง 
  • รับเป็นผู้ป่วยใน พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ส่วนในกรณีผู้ป่วยไบโพลาร์ที่ใช้สารเสพติดยิ่งเป็นปัจจัยทำให้การรักษาโรคอารมณ์แปรปรวนยากขึ้น จึงต้องให้การรักษาตามอาการร่วมกับการบำบัดไปพร้อมกัน   

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าตนหรือคนใกล้ตัวกำลังมีความผิดปกติทางอารมณ์หรือการแสดงออกดังกล่าว ควรทำความเข้าใจก่อนว่า เป็นอาการป่วยของโรคชนิดหนึ่งที่ใคร ๆ สามารถเป็นได้ ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่เรื่องน่าอาย และมีโอกาสรักษาหายได้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องในเวลารวดเร็ว ดังนั้นอย่าชะล่าใจ รีบทำการรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขได้อีกเลย ดีกว่านะคะ 

– Advertisement –
Written By

– Advertisement –