Menu

ประวัติ มวยไทย…มวยของใคร ? 

Peter Torres 2 years ago 125

ทั่วโลกล้วนแต่รู้จัก “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้อันเป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ แต่ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ทุกประเทศล้วนแต่มีวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าอันเป็นชาติกำเนิดของตนทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ ยูโดของญี่ปุ่น กังฟูของจีน หรือ เทควันโดของเกาหลี และอีกหลายประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา อย่าง ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ ก็มีศิลปะการต่อสู้ที่มีรูปแบบคล้ายกับมวยไทยบ้านเรา จนอาจทำให้บางประเทศเข้าใจผิดคิดว่ามวยไทยเป็นรากของบ้านเขา แล้วเราไปขโมยมาปลูกจนเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา กลายเป็นสัญลักษณ์ของไทยไปเสียอย่างนั้น การกล่าวหาจากความเข้าใจฝ่ายเดียวย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครอยู่ในเหตุการณ์จริงในอดีต มีเพียงแต่รับรู้จากการศึกษาประวัติศาสตร์และพงศาวดาร ที่มีเพียงแค่ตัวอักษร การจารึกรูปภาพตามสถานที่ต่าง ๆ และการสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น 

มวยไทย คือ ศิลปะต่อสู้ประจำชาติไทย โดยมีที่มาจากมวยไทยโบราณ ใช้ในการต่อสู้ห้ำหั่นกันแบบประชิดตัวด้วยมือเปล่า เพื่อเป็นการป้องกันตัวและใช้พิชิตศัตรูในศึกสงครามเมื่อในอดีต แต่เมื่อยามศึกสงบ ศิลปะการต่อสู้ที่ใช้เพื่อปกป้องบ้านเมืองได้ถูกนำมาใช้เพื่อการแข่งขัน มีการพัฒนาเรื่อย ๆ กลายเป็นองค์ความรู้ และสืบทอดต่อกันมาจนเป็นวัฒนธรรมของชาติไทย 

จากศิลปะการต่อสู้ตามสัญชาตญาณเพื่อความเอาตัวรอด จากการใช้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ตั้งแต่การเหวี่ยงหมัด ใช้กำปั้น เข่า ศอก โขกศีรษะ หรือแม้แต่การกัด ซึ่งมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชาติเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าสัตว์หรือมนุษย์ เพียงแต่สัตว์ใด ชาติพันธุ์ใด จะพัฒนาและปรับให้เป็นรูปแบบเฉพาะตนอย่างไร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น 

มวยไทย ประวัติในอดีต 

มวยไทย เป็นมรดกสืบทอดกันมานาน แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด แต่ได้มีการใช้วิชามวยในการป้องกันตัวเองและในสมรภูมิรบ ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ไทยมานาน มีการสืบทอดและพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

ประวัติมวยไทย ย่อ กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

ในประวัติศาสตร์ได้มีการระบุไว้ในหนังสือ ศิลปะมวยไทยถึงเรื่องราวในสมัยอยุธยาว่า พระเจ้าเสือ หรือ สมเด็จพระสรรเพชรญ์ที่ 8 ทรงโปรดปรานการชกมวยมาก จนถึงขนาดปลอมพระองค์เป็นสามัญชนมาชกมวยกับชาวบ้าน และสามารถชกชนะนักมวยฝีมือดีแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ และด้วยความชอบในศิลปะวิชามวยของพระองค์ จึงได้ให้มีการฝึกมวยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนัก จนขยายไปสู่บ้านและวัด ทำให้คนไทยในสมัยนั้นได้ฝึกฝนศิลปะแม่ไม้มวยไทยทุกชนชั้น ยิ่งถ้าใครมีฝีมือดีด้านการมวย ยิ่งมีโอกาสได้เข้ารับราชการ และก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว 

เมื่อครั้งที่พม่าได้รับชัยชนะจากการสู้รบกับไทย และได้จับคนไทยไปเป็นเชลยศึกเมื่อ พ.ศ.2310  สุกี้พระนายกอง ต้องการฉลองชัย จึงได้ให้คัดเอาเชลยไทยขึ้นชกกับนักมวยพม่า โดยเชลยศึกที่ถูกคัดขึ้นชกในครั้งนั้น คือ นายขนมต้ม ได้ชกชนะนักมวยพม่าถึง 10 คน ทำให้พระเจ้ากรุงอังวะถึงกับตรัสชมเชย ว่าคนไทยแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า 2 ข้าง ก็ยังมีพิษสงรอบตัว หรือในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นเจ้าเมืองตาก มีทหารเอกหลายนายที่มีฝีมือมวยไทยเก่งฉกาจ ได้แก่ นายทองดี หรือ จ้อย ซี่งเป็นชาวเมืองพิชัย หรือต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พระยาพิชัยดาบหาก 

เส้นทางการพัฒนามวยไทยโบราณ สู่ มวยไทยในปัจจุบัน 

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบวิชาต่อสู้ด้วยมือเปล่า ให้มีการสวมนวมชกกลายเป็นกีฬาแบบสากลมากขึ้น เพื่อลดความอันตราย และอาการบาดเจ็บรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการชก เมื่อมีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นกีฬาสากลมากขึ้น มีการกำหนดยก มีการแบ่งมุม คือ มุมแดง – มุมน้ำเงิน และให้นักมวยแต่งกายตามมุม มีค่ายมวย นักมวย และการตั้งสนามมวยขึ้นมากมายในสมัยนั้น แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกอย่างก็ได้หยุดชะงักลง แต่กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง 

จนกระทั่งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488 ได้มีการจัดตั้งสนามมวยราชดำเนิน และจัดการแข่งขันชกมวยอาชีพขึ้น ทำให้มีนักมวยแจ้งเกิดหลายคน เช่น ผล พระประแดง , สุข ปราสาทหินพิมาย , สมาน ดิลกวิลาศ , ประสิทธิ์ ชมศรีเมฆ และ เป็นสูน เทียมกำแหง โดยในสมัยนั้นสามารถชกข้ามรุ่นกันได้  

จากศิลปะต่อสู้จนมาเป็นกีฬาป้องกันตัว 

ต่อมาได้มีการเปิด สนามมวยลุมพินี ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ในวันที่ 8 ธันวาคม 2499 ซึ่งถือว่าเป็นอีกสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย ที่นอกเหนือจากสนามมวยราชดำเนิน แต่มีการปรับเปลี่ยนกฏกติกาโดยมีการกำหนดน้ำหนักตัวนักชก เพื่อแบ่งประเภทนักมวยออกเป็นรุ่นต่าง ๆ และกำหนดกฏกติกามวยไทยอาชีพขึ้น 

ได้มีการถ่ายทอดสดการชกมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนินให้ได้ชมเป็นครั้งแรก ในวันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2498 หลังจากนั้นได้มีชาวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อฝึกมวยไทย และจัดการแข่งขันชกมวยกับนักมวยไทยเป็นประจำ 

มวยไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนได้มีการก่อตั้งสมาคมไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น และได้มีการกำหนดให้มีอุปกรณ์ป้องกันให้กับนักมวยขณะทำการชกทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของนักมวย เมื่อชาวต่างชาติเห็นว่ามวยไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น จึงได้ทยอยกันเดินทางเข้ามาศึกษาและแข่งขันมวยไทยทุกปี 

การที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจในมวยไทยมากขึ้น ผนวกกับชื่อเสียงของมวยไทยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ทำให้ศิลปะการต่อสู้มวยไทย กลายเป็นธุรกิจมวยที่มีการขยายเป็นวงกว้างและเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจ หากจะมีใครอิจฉาและต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ชื่อว่า ข้านี่แหล่ะ เจ้าของมวยไทย ตัวจริง 

– Advertisement –
Written By

– Advertisement –