จากการแชร์ข่าวในโลกออนไลน์ทีแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ กับภาพปูมีรูที่ท้อง พร้อมกับเตือนว่าห้ามกินเด็ดขาด เพราะเกิดจากการฉีดฟอร์มาลีนเพื่อไม่ให้ปูเน่าเสียก่อนจำหน่ายผู้บริโภค ทำให้หลายคนเกิดความหวั่นวิตกและไม่กล้าซื้อปูมารับประทาน เพราะเกรงจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากวันนี้วันที่ 15 มีนาคม คือ วันสิทธิผู้บริโภคสากล ดังนั้น เราจะมาไขข้อหาความจริง รูเล็ก ๆ ที่ท้องปู เกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อรักษาสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับข่าวสาร และข้อมูลของสินค้าได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง
จากภาพที่แชร์ว่อนกันในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นภาพปูที่มีรูอยู่ที่ท้อง พร้อมกับข้อความเตือนห้ามซื้อมารับประทานนั้น ล่าสุด ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟสบุคส่วนตัวแล้วว่าภาพที่แชร์ดังกล่าวเป็นภาพเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จากเว็บไซต์ข่าวมาเลเซีย ซึ่งอ้างถึงการฉีดน้ำทะเลเข้าไปในตัวปู เพื่อเพิ่มน้ำหนักและรักษาความสดของตัวปู เพื่อให้ขายได้ในราคาที่แพงขึ้นกว่าความเป็นจริงเท่านั้น เพราะวิธีที่คนขายมักลอบทำกัน คือการนำปูไปแช่น้ำยาฟอร์มาลีนโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องคอยมาฉีดเข้าตัวปูทีละตัว ส่วนการฉีดฟอร์มาลีนเข้าตัวปูนั้น จะเป็นวิธีสตั๊ฟปูเพื่อจัดแสดงโชว์อย่างในพิพิธภัณฑ์มากกว่า เพราะถ้านำปูไปแช่ฟอร์มาลีน จะทำให้ปูนั้นแข็งทั้งตัว จนไม่สามารถจัดท่าทางอวัยวะภายนอกได้ จึงจำเป็นต้องฉีดฟอร์มาลีนเข้าไปในตัวปู เพื่อให้แข็งแต่เฉพาะข้างในเท่านั้น
และจากที่ได้เกริ่นไว้ในเบื้องต้นว่าวันนี้เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล หลายคนอาจสงสัย เอ๊ะ วันอะไรนะ วันผู้บริโภคสากลคืออะไร มีวันนี้ด้วยเหรอ มาค่ะ ไหน ๆ ก็เริ่มกันขนาดนี้แล้ว ในฐานะที่เราทุกคนต่างก็เป็นผู้บริโภค การได้รู้ข้อมูลเท่าทันถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ปกป้องสิทธิ์ของตนได้อย่างถูกต้อง
สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ มีดังต่อไปนี้
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ
- สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้ประกอบในการเลือกและตัดสินใจ
- สิทธิในการเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกผูกขาดในที่ใดที่เดียว
- สิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าและบริการในฐานะผู้บริโภค
- สิทธิในการได้รับสินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
- สิทธิในการได้รับการชดเชย เยียวยา หรือชดใช้ เมื่อถูกละเมิดสิทธิ
- สิทธิในการได้รับความรู้เพื่อให้เกิดความเท่าทันของการเลือกบริโภค
- สิทธิที่จะได้ดำรงชีวิตในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย