Menu

ทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัยจากพวกมิจฉาชีพ 

Peter Torres 2 years ago 9

ต้องยอมรับว่าการทำธุรกรรมออนไลน์ คือเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากโรคโควิด19 ระบาด ทำให้คนในสังคมหันมาใช้ระบบไร้เงินสดเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค แถมวิธีใช้งานก็ไม่ยุ่งยาก สะดวก รวดเร็ว เพียงแค่ปลายนิ้วก็สามารถจัดการได้ทุกธุรกรรมการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน ถอนเงิน หรือการผูกบัญชีเพื่อซื้อขายสินค้าออนไลน์ แต่ความเข้าถึงง่ายและใช้อย่างสะดวกนี้เอง ทำให้กลายเป็นดาบสองคม เพราะเหล่ามิจฉาชีพก็สามารถทำการโจรกรรมได้ง่าย จนมีผู้เสียไปแล้วกว่าหลายพันราย และมูลค่าความเสียหายรวมกันเป็นหลักล้านเลยทีเดียว จากการโจรกรรมธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Banking นั่นเอง 

E-Banking คืออะไร 

E-Banking (Electronic Banking ) หรือ ธุรกรรมการเงินออนไลน์ คือ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร ทั้งการในด้านการโอน การถอน ชำระหนี้ ซื้อหน่วยลงทุน และซื้อ-ขายด้านอื่น ๆ โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถเรียก Online Banking , Internet Banking หรือ Cyber Banking ได้เช่นกัน ซึ่งเราจะเข้าถึงในบริการเหล่านั้นได้นั้น จะต้องเข้าหน้าแอปพลิเคชันของธนาคารบนสมาร์ทโฟนของเราเอง ซึ่งแอปเหล่านี้ช่วยให้เราบริหารการเงินในบัญชีได้อย่างรวดเร็ว และมีบริการครอบคลุม สามารถตรวจสอบยอดเงินในบัญชี โอน ถอน จ่าย ได้ตลอดเวลา 

ทำธุรกรรมออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย 

เมื่อเปิดหน้าแอปพลิเคชัน จะต้องมีการใส่รหัสยืนยันตัวตน เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยกับเงินในบัญชีธนาคาร แต่หากมีคนอื่นสามารถล่วงรู้รหัสและสามารถเข้าถึงหน้าบัญชีของคุณได้จะเป็นอย่างไร? จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราควรใช้รหัสที่รัดกุมและคาดเดาได้ยาก เรามาดูวิธีการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัยกันดีกว่า  

1. รหัสยืนยันตัวตน 6 หลัก 

ปัจจุบันแอปพลิเคชันธนาคารต่าง ๆ จะให้ใส่รหัสเป็นตัวเลข 6 หลักด้วยกัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนให้ใส่เพียงแค่ 4 หลักเท่านั้น ซึ่งข้อดีของรหัสตัวเลข คือ การจดจำได้ง่าย แต่ก็เป็นข้อเสียด้วยเช่นกัน เพราะคนส่วนใหญ่มักจะตั้งตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเพื่อให้ง่ายต่อการจำ เช่น วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น หากมิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวของคุณ ทำให้ง่ายต่อการคาดเดาและเข้าไปขโมยเงินในบัญชีของคุณได้อย่างไม่ยากเย็น 

2. การเข้ารหัสส่วนบุคคล 

รหัสส่วนบุคคล คือ รหัสที่เราคิดเองโดยอาจมีการผสมระหว่างตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทำให้รหัสส่วนบุคคลแบบนี้มีข้อดี คือ คาดเดาได้ยากกว่า เนื่องจากมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ACRA-1258B เป็นต้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ความซับซ้อนนี่เองอาจทำให้เราจำสับสนและลืมเองได้เช่นกัน ดังนั้นควรตั้งรหัสที่เราจำได้จริง ๆ 

3. การใช้ลายนิ้วมือ 

การยืนยันตัวตนเข้าแอปพลิเคชันการธนาคารด้วยลายนิ้วมือ เป็นอีกวิธีการยืนยันตัวตนที่รัดกุม จากเทคโนโลยี Touh ID ของสมาร์ทโฟน เนื่องจากลายนิ้วมือเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล โทรศัพท์รุ่นที่มีระบบ Touh ID จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีของเราได้มากขึ้น เพราะระบบจะทำการล็อค 2 ชั้น เนื่องจากต้องยืนยันตัวตนด้วยรหัสตัวเลขอีกครั้ง เมื่อจะทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ 

ระวัง! อันตรายแฝงที่เรามักมองข้าม 

1. อุปกรณ์ที่ใช้เข้าถึงบริการ 

หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมการเงินบนมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของคนอื่น ห้ามใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมการเงินเด็ดขาด เพราะข้อมูลอาจรั่วไหลหรือถูกขโมยได้ และไม่ควรใช้สมาร์ทโฟนที่มีการดัดแปลงระบบปฏิบัติการมาแล้วเช่นกัน เพราะอาจมีการฝังระบบถ่ายโอนข้อมูล หรือระบบป้องกันข้อมูลของเครื่องไม่ทำงาน 

2. Wifi 

ไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตหรือ Wifi สาธารณะ เพราะเสี่ยงต่อการถูกขโมยรหัสและข้อมูลต่าง ๆ ได้ ควรใช้อินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายมือถือส่วนตัวของเรา หรือ wifi ที่บ้านเราเองเท่านั้น จะปลอดภัยกว่า 

3. แอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์แปลกปลอม 

อย่าโหลดแอปพลิเคชันแปลกปลอม หรือแอปเถื่อนที่ไม่ได้อยู่ใน store ซอฟต์แวร์ และคอยหมั่นสังเกตบนมือถือของเรามีซอฟต์แวร์หรือแอปหน้าตาแปลก ๆ หรือไม่ เพราะมันอาจเป็นช่องทางให้ไวรัสเข้ามาแฮกระบบ หรือมีเครื่องมือดักจับข้อมูลในมือถือของเราได้  

4. ลิงก์เว็บไซต์ของธนาคาร 

เว็บปลอมที่มักจะทำเลียนแบบเว็บไซต์ธนาคาร ทำให้หลายคนพลาดกับการใช้บริการเว็บไซต์อันตราย เพราะเข้าใจว่าเป็นของธนาคารโดยตรง หากต้องการจะใช้บริการเว็บไซต์ของธนาคาร ควรเข้าถึงด้วยการพิมพ์ URL เว็บไซต์ของธนาคารด้วยตนเอง ซึ่งลิงก์ที่ปลอดภัยจะเป็น https และมีแม่กุญแจกำกับอยู่ด้านหน้า ซึ่งหมายถึงเป็นเว็บไซต์ที่ปลอดภัย และไม่ควรกดเข้าลิงก์ที่ส่งมาทาง SMS หรือ ทาง Email เพื่อให้กดเข้าไปทำธุรกรรมการเงินเด็ดขาด ถ้าไม่แน่ใจให้นำลิงก์ที่ส่งมาไปเช็คกับทางธนาคารอีกครั้ง หรือโทรติดต่อสอบถามโดยตรง 

5. Log-in Log-out 

การเข้าระบบด้วยการ Log-in และ Log-out เพื่อออจากระบบ เป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่จำเป็น และมีความสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการการออกจากระบบหลังจากเสร็จสิ้นการทำธุรกรรม เพราะหลายคนที่มักเข้าระบบแล้วมักจะลืมกดออกจากระบบ หรือปล่อยให้หน้าบัญชีค้างไว้หน้าจอ ทำให้เสี่ยงต่อการเข้าถึงได้ง่ายสำหรับบุคคลที่สามหรือพวกมิจฉาชีพ  เพื่อความปลอดภัย ควรทำการออกจากระบบบัญชีธนาคารทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ 

– Advertisement –
Written By

– Advertisement –