Menu

ฉลองปีใหม่ ระวัง ! โรคหูดับ ที่มาพร้อมกับความอร่อย

Peter Torres 1 year ago 19

ระวัง!! ฉลองปีใหม่ กินเลี้ยงกันอร่อย แต่อาจพาชีวิตดับ เพราะกินอาหารไม่สุก!

เมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีผู้ป่วย “โรคหูดับ” แล้วกว่า 349 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย โดยสาเหตุมาจากการกินอาหารปรุงไม่สุก และอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ลาบ ลู่ หมูกระทะ ชาบู ปิ้งย่าง โดยเฉพาะ เนื้อหมู หรือเลือดหมู ที่สุกไม่ทั่วถึง หรือใช้ที่คีบเนื้อหมูดิบ แล้วนำมาคีบอาหารรับประทานต่อ ทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหูดับเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ 

สาเหตุโรคหูดับเกิดจากเชื้ออะไร 

โรคหูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งอาศัยอยู่ในทางเดินหายใจและเลือดของหมูแทบทุกตัว เดิมทีเชื้อนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ถ้าหากหมูมีร่างกายอ่อนแอ เจ้าเชื้อนี้จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น จนทำให้หมูป่วยและตาย เมื่อคนกินเนื้อหรือเลือดหมูที่ป่วยเข้าไป ก็จะทำให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและทำให้ป่วยเป็นโรคหูดับและอาจเสียชีวิตได้ 

โรคหูดับ ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ. 2511 จากนั้นก็พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นในอีกหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่มีการระบาดโรคหูดับครั้งใหญ่ในจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการสัมผัสพาหะที่ติดเชื้อโดยตรง จนทำให้มีผู้ป่วยโรคหูดับกว่า 215 ราย และเสียชีวิตกว่า 38 ราย ในปี พ.ศ. 2548 และเมื่อปี พ.ศ.2530 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโรคหูดับ กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการสำรวจและพบว่า ปี 2561 โรคหูดับได้มีการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้นแทบทุกภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือ สำรวจพบว่า ก็ได้กระจายไปแทบทุกภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน เนื่องจากมีอาชีพเลี้ยงหมู และนิยมทานเมนูพื้นบ้านที่เป็นของดิบกันเป็นส่วนใหญ่ 

อาการโรคหูดับเป็นอย่างไร  

ผู้ป่วยโรคหูดับ เนื่องจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis ที่อาศัยอยู่ในหมู (สุกร) เข้าสู่ร่างกาย ด้วย 2 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่ 

  1. การกินเนื้อหมู เครื่องในหมู หรือเลือดหมู แบบดิบ ๆ หรือปรุงไม่สุก เช่น ลาบเลือด ลาบหมู หลู้ เนื้อหมูย่างไม่สุก เป็นต้น 
  2. การสัมผัส บาดแผล และช่องเยื่อบุต่าง ๆ เช่น การสัมผัสตัวหมูหรือเนื้อหมูที่ติดเชื้อโดยตรง บาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วนตามร่างกาย และ เยื่อบุตา 

อาการโรคหูดับ

อาการไข้หูดับระยะฟักตัว สํานักระบาดวิทยาได้แจ้งว่า จะอยู่ในช่วง 1-3 วัน หรืออาจยาวนานไปถึง 1-2 สัปดาห์  โดยอาการที่พบในผู้ป่วย มีดังนี้ 

  1. มีไข้สูง 
  2. ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  3. ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  4. ปวดตามข้อ 
  5. ซึม
  6. คอแข็ง
  7. มีจ้ำเลือดตามตัวและผิวหนัง 
  8. ทรงตัวลำบาก 
  9. ชักเกรง

เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองและกระแสเลือด จะมีอาการดังต่อไปนี้ 

  1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  2. ม่านตาอักเสบ
  3. ข้ออักเสบ 
  4. ปวดศีรษะรุนแรง 
  5. เสียการควบคุมการทรงตัว เดินเซ 
  6. เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว 
  7. สูญเสียการได้ยิน หูตึง หูดับ และ หูหนวกถาวร 

โรคหูดับรักษาหายไหม 

โรคไข้หูดับยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่มีแนวทางการรักษา 2 ลักษณะ คือ 

  1. การดูแลรักษาตามอาการทั่วไป 
  2. การรักษาเฉพาะโรค ตามตำแหน่งของโรค 

วิธีการป้องกันโรคหูดับ 

แม้ว่าโรคหูดับจะยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค แต่มีวิธีการป้องกันที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด คือ มาตรการป้องกันโรคในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ กลุ่มผู้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ กลุ่มผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ และ กลุ่มผู้บริโภค และการป้องกันสามารถทำได้ ดังต่อไปนี้ 

  1. ไม่รับประทานเนื้อหมู เครื่องในหมู เลือดหมู ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือกึ่งสุกึ่งดิบ 
  2. เลือกบริโภคเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน 
  3. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อสัมผัสเนื้อหมูดิบขณะปรุงอาหาร
  4. กำจัดเนื้อหมูดิบทิ้งหากพบว่ามาจากแหล่งที่สุ่มเสี่ยง หรือฟาร์มที่นำเนื้อหมูที่ป่วยมาจำหน่าย
  5. ผู้เลี้ยงหมูจะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันเสมอ เช่น ถุงมือ รองเท้าบูท เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคจากหมูที่ป่วยโดยตรง 
  6. ล้างมือ ล้างเท้า หรืออาบน้ำทุกครั้งหลังจากมีการสัมผัสสุกร 
  7. หากมีแผล จะต้องทำการปิดแผลให้มิดชิดก่อนเข้าไปใกล้ชิดสุกร เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อทางบาดแผล 
  8. กำจัดเชื้อในฟาร์มตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้สุกรติดเชื้อและป่วย 

ยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มักจะมีการเฉลิมฉลองและการสังสรรค์ เมนูอาหารยอดฮิต อย่าง ชาบู หมูกระทะ ปิ้งย่าง และสารพัดเมนูที่ถูกจัดอยู่บนโต๊ะ ต้องระมัดระวังในการกินให้ดี ซึ่งวิธีป้องกันตัวเองจากโรคหูดับ กรมควบคุมโรค ได้แนะนำให้ประชาชนยึดหลักง่าย ๆ คือ “ร้อน สุก สะอาด” คือ ทานอาหารที่ผ่านความร้อน ปรุงสุก และสะอาด จะได้ห่างไกลจากโรคหูดับ และมีความสุขได้ตลอดปีด้วยสุขภาพที่แข็งแรง 

– Advertisement –
Written By

– Advertisement –