ระวัง!! ฉลองปีใหม่ กินเลี้ยงกันอร่อย แต่อาจพาชีวิตดับ เพราะกินอาหารไม่สุก!
เมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีผู้ป่วย “โรคหูดับ” แล้วกว่า 349 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย โดยสาเหตุมาจากการกินอาหารปรุงไม่สุก และอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ลาบ ลู่ หมูกระทะ ชาบู ปิ้งย่าง โดยเฉพาะ เนื้อหมู หรือเลือดหมู ที่สุกไม่ทั่วถึง หรือใช้ที่คีบเนื้อหมูดิบ แล้วนำมาคีบอาหารรับประทานต่อ ทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหูดับเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุโรคหูดับเกิดจากเชื้ออะไร
โรคหูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งอาศัยอยู่ในทางเดินหายใจและเลือดของหมูแทบทุกตัว เดิมทีเชื้อนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ถ้าหากหมูมีร่างกายอ่อนแอ เจ้าเชื้อนี้จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น จนทำให้หมูป่วยและตาย เมื่อคนกินเนื้อหรือเลือดหมูที่ป่วยเข้าไป ก็จะทำให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและทำให้ป่วยเป็นโรคหูดับและอาจเสียชีวิตได้
โรคหูดับ ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ. 2511 จากนั้นก็พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นในอีกหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่มีการระบาดโรคหูดับครั้งใหญ่ในจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการสัมผัสพาหะที่ติดเชื้อโดยตรง จนทำให้มีผู้ป่วยโรคหูดับกว่า 215 ราย และเสียชีวิตกว่า 38 ราย ในปี พ.ศ. 2548 และเมื่อปี พ.ศ.2530 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโรคหูดับ กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการสำรวจและพบว่า ปี 2561 โรคหูดับได้มีการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้นแทบทุกภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือ สำรวจพบว่า ก็ได้กระจายไปแทบทุกภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน เนื่องจากมีอาชีพเลี้ยงหมู และนิยมทานเมนูพื้นบ้านที่เป็นของดิบกันเป็นส่วนใหญ่
อาการโรคหูดับเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยโรคหูดับ เนื่องจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis ที่อาศัยอยู่ในหมู (สุกร) เข้าสู่ร่างกาย ด้วย 2 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่
- การกินเนื้อหมู เครื่องในหมู หรือเลือดหมู แบบดิบ ๆ หรือปรุงไม่สุก เช่น ลาบเลือด ลาบหมู หลู้ เนื้อหมูย่างไม่สุก เป็นต้น
- การสัมผัส บาดแผล และช่องเยื่อบุต่าง ๆ เช่น การสัมผัสตัวหมูหรือเนื้อหมูที่ติดเชื้อโดยตรง บาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วนตามร่างกาย และ เยื่อบุตา
อาการโรคหูดับ
อาการไข้หูดับระยะฟักตัว สํานักระบาดวิทยาได้แจ้งว่า จะอยู่ในช่วง 1-3 วัน หรืออาจยาวนานไปถึง 1-2 สัปดาห์ โดยอาการที่พบในผู้ป่วย มีดังนี้
- มีไข้สูง
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- ปวดตามข้อ
- ซึม
- คอแข็ง
- มีจ้ำเลือดตามตัวและผิวหนัง
- ทรงตัวลำบาก
- ชักเกรง
เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองและกระแสเลือด จะมีอาการดังต่อไปนี้
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ม่านตาอักเสบ
- ข้ออักเสบ
- ปวดศีรษะรุนแรง
- เสียการควบคุมการทรงตัว เดินเซ
- เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว
- สูญเสียการได้ยิน หูตึง หูดับ และ หูหนวกถาวร
โรคหูดับรักษาหายไหม
โรคไข้หูดับยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่มีแนวทางการรักษา 2 ลักษณะ คือ
- การดูแลรักษาตามอาการทั่วไป
- การรักษาเฉพาะโรค ตามตำแหน่งของโรค
วิธีการป้องกันโรคหูดับ
แม้ว่าโรคหูดับจะยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค แต่มีวิธีการป้องกันที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด คือ มาตรการป้องกันโรคในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ กลุ่มผู้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ กลุ่มผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ และ กลุ่มผู้บริโภค และการป้องกันสามารถทำได้ ดังต่อไปนี้
- ไม่รับประทานเนื้อหมู เครื่องในหมู เลือดหมู ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือกึ่งสุกึ่งดิบ
- เลือกบริโภคเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อสัมผัสเนื้อหมูดิบขณะปรุงอาหาร
- กำจัดเนื้อหมูดิบทิ้งหากพบว่ามาจากแหล่งที่สุ่มเสี่ยง หรือฟาร์มที่นำเนื้อหมูที่ป่วยมาจำหน่าย
- ผู้เลี้ยงหมูจะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันเสมอ เช่น ถุงมือ รองเท้าบูท เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคจากหมูที่ป่วยโดยตรง
- ล้างมือ ล้างเท้า หรืออาบน้ำทุกครั้งหลังจากมีการสัมผัสสุกร
- หากมีแผล จะต้องทำการปิดแผลให้มิดชิดก่อนเข้าไปใกล้ชิดสุกร เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อทางบาดแผล
- กำจัดเชื้อในฟาร์มตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้สุกรติดเชื้อและป่วย
ยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มักจะมีการเฉลิมฉลองและการสังสรรค์ เมนูอาหารยอดฮิต อย่าง ชาบู หมูกระทะ ปิ้งย่าง และสารพัดเมนูที่ถูกจัดอยู่บนโต๊ะ ต้องระมัดระวังในการกินให้ดี ซึ่งวิธีป้องกันตัวเองจากโรคหูดับ กรมควบคุมโรค ได้แนะนำให้ประชาชนยึดหลักง่าย ๆ คือ “ร้อน สุก สะอาด” คือ ทานอาหารที่ผ่านความร้อน ปรุงสุก และสะอาด จะได้ห่างไกลจากโรคหูดับ และมีความสุขได้ตลอดปีด้วยสุขภาพที่แข็งแรง